ความสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ต่อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษลิงจะยังไม่เพิ่มจำนวนจนน่าตกใจ แต่เราก็ควรให้ความสำคัญ หมั่นสังเกตอาการของตนเองและบุคคลรอบข้างอยู่เสมอ เพราะสามารถติดเชื้อได้ง่ายเพียงแค่การสัมผัส และเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองเกิดขึ้นในระยะแพร่เชื้อ ซึ่งกว่าจะหายก็อาจจะทิ้งรอยแผลเป็น จนทำให้เราเสียความมั่นใจอีกด้วย
การดูแลสุขภาพของตนเอง ยังคงเป็นเรื่องสำคัญมากในการรับมือต่อเชื้อโรคต่างๆ ไวรัสฝีดาษลิงก็เช่นกัน ถึงจะสามารถหายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาการจะรุนแรงและใช้เวลาในการรักษานานกว่าปกติ อีกทั้งต้องรับยาต้านไวรัส เช่นยา tecovirimat และ cidofovir อีกด้วย
ซึ่งผลกระทบที่สำคัญอีกอย่าง คือไวรัสฝีดาษลิงส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง จนเป็นต้นเหตุนำไปสู่การเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อที่กระจกตา ทำให้ต้องรับการรักษาขึ้นกว่าปกติ
โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ยกตัวอย่างกรณีผู้ติดเชื้อชาวอเมริกา ที่ติดเชื้อมา 2 สัปดาห์ ได้มีอาการคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Strep throat) ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน และมีตุ่มใสเพิ่มขึ้นมาด้วย แทนที่จะลดจำนวนลง อันน่าจะมีผลมาจากภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง
ระบบภูมิคุ้มกันยังคงช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากเราพลาดรับเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ดังนั้นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เป็นเหมือนการสร้างหลักประกัน ว่าคุณจะได้รับผลกระทบจากการป่วยเพียงเล็กน้อย ไม่เกิดอาการทรุดหนัก และไม่เพียงแต่โรคฝีดาษลิงเท่านั้น ยังรวมไปถึงโรคติดต่ออื่นๆ อีกด้วย